การปลูกไม้สนเพื่อสร้างรายได้บนพื้นที่สูง

 โดย ผศ.ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์  
ผู้ประสานงานป่าไม้ มูลนิธิโครงการหลวง

จากสถิติการป่าไม้ของประเทศไทยปรากฏว่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา (พ. ศ. 2553-2557) ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราในการนำเข้าไม้สนทั้งในรูปของไม้ท่อนและไม้แปรรูปเฉลี่ยปีละ 1,523 ล้านบาท แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงมากนักก็ตาม แต่ก็เป็นการสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะไทยมีศักยภาพที่จะปลูกไม้สนไว้ใช้สอยภายในประเทศเองได้ รวมทั้งโดยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมต่างๆแล้ว ไม้สนที่ปลูกในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าและมีอายุรอบหมุนเวียนในการตัดฟันสั้นกว่าไม้สนที่ปลูกในเขตอบอุ่น อันเป็นถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติของไม้สนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ไม้สนซึ่งขึ้นได้ดีในที่อากาศหนาวเย็น บทบาทของไม้สนที่ปลูกบนพื้นที่สูงจึงมีส่วนช่วยอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศสูงยิ่งกว่าผลตอบแทนในทางตรงอีกด้วย

ไม้สน (Pinus : pine) มีด้วยกันทั้งสิ้น 114 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่น (temperate zone) สำหรับประเทศไทยมีไม้สนธรรมชาติอยู่เพียง 2 ชนิด คือ สนสองใบ (Pinus merkusii) หรือสนเปลือกหนา และสนสามใบ (Pinus kesiya) หรือสนเปลือกบาง โดยกรมป่าไม้ได้เริ่มทำการปลูกไม้สนทั้งสองชนิดนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2506 ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 โครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNDP : United Nation Development Project) ก็ได้ให้กาสนับสนุนในการจัดทำโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษขึ้น และพัฒนามาเป็นโครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้สนและไม้โตเร็ว อันเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยโดยกรมป่าไม้ กับรัฐบาลเดนมาร์ก โดย DANIDA (Danish International Development Agency)ในปี พ. ศ. 2512 ทำให้ได้มีการศึกษาวิจัยทั้งไม้สนพื้นเมืองของไทยและนำไม้สนต่างถิ่นหลายชนิดเข้ามาทดลองปลูก

ผลการทดลองพบว่าไม้สนต่างถิ่นที่เติบโตได้ดีเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมี 3 ชนิด ซึ่งต่างก็มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติอยู่ในแถบอเมริกากลางทั้งสิ้น คือ สนคาริเบีย (Pinus caribaea) สนโอคาร์ปา (Pinus oocarpa) และสนเทคูนูมานี Pinus patula ssp. tecunumanii) โดยเฉพาะไม้สนคาริเบียนั้นมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าไม้สนพื้นเมืองของไทย และสามารถปรับตัวให้ขึ้นได้ดีทั้งในพื้นที่สูงและพื้นที่ต่ำ รวมทั้งกรมป่าไม้ก็ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์และวนวัฒนวิทยาของไม้สนชนิดนี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน

ดังนั้น ไม้สนคาริเบียจึงเหมาะสำหรับปลูกเพื่อสร้างรายได้บนพื้นที่สูง เพราะนอกจากจะเติบโตเร็วแล้วยังเป็นไม้ต่างถิ่นหรือ ไม้นอกประเภท ซึ่งไม่มีปัญหายุ่งยากในการทำไม้ออกมาใช้ประโยชน์เหมือนไม้สนของไทย

ที่มา: การประชุมวิชาการผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558