
ชาวเขากับการดูแลสุขภาพ
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขาให้มีศักยภาพแบบองค์รวม สามารถพึ่งพาตนเองได้ นับเป็นผลความสำเร็จในการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ไม่ว่าทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังพบปัญหาสุขภาพอนามัยแอบแฝงอยู่ในทุกชนเผ่า อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชุมชนอีกด้านหนึ่ง ด้วยสาเหตุของการด้อยการศึกษา ความไม่พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ความไม่ตระหนักในการดูแลสุขภาพอนามัย การลืมเลือนวัฒนธรรมประเพณี มีสภาพสังคมในวิถีชีวิตดั้งเดิม การมุ่งหารายได้มากกว่าการใส่ใจดูแลสุขภาพอนามัยของตน ครอบครัวและชุมชน เป็นเหตุผลให้ชุมชนขาดความเข้มแข็งในระยะยาว
เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงด้วยความเจริญทางเทคโนโลยี การคมนาคมสะดวกสบาย สาธารณูปโภคที่พร้อมมูล สิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย ต่างหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนชาวเขา ดังตัวอย่างชุมชนชาวเขาเผ่าลาหู่บ้านดอยมด ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมในด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข จากมูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย เช่น การวางแผนครอบครัว อนามัยการเจริญพันธุ์ มิติหญิงชาย ทักษะชีวิต การป้องกันยาเสพติด ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอนามัยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมให้บรรลุผลได้อย่างครอบคลุม
จากการสำรวจปัญหาพื้นฐานของชุมชนบ้านดอยมด เรื่องขยะที่มีจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็น ไม่มีที่ทิ้งขยะที่เหมาะสม การ เลี้ยงหมูแบบปล่อย การระบายน้ำไม่ดี ไม่มีห้องน้ำครบทุกครัวเรือน ชุมชนแออัด มียุงมากเพราะมีน้ำขัง น้ำดื่ม น้ำใช้ไม่สะอาด ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่งแล้ว แต่บางประเด็นก็ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป
ชาวเขาเผ่าลาหู่บ้านดอยมดมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับธรรมชาติ มีความเชื่อ สืบทอดมาแต่โบราณ นับถือผี เทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความรู้เรื่องโรคและรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีดั้งเดิม โดยใช้วิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยด้านการแพทย์แผนโบราณมากกว่าแผนปัจจุบัน อันด้วยความเชื่อในจารีตประเพณี วัฒนธรรมที่คงอยู่เดิมอย่างเหนียวแน่น อีกทั้งมีความเชื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ที่มีสาเหตุหลัก ได้แก่ อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ตากแดด ตากฝน อาหารการกินที่ไม่ดี
อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น การถูกกระทำจากผีป่า ผีน้ำ เจ้าพ่อ เทพเจ้าบันดาลให้มีอันเป็นไป โดนคุณไสย์ โดนคาถาอาคม และอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุ เพราะความประมาท ไม่มีชำนาญ ไม่ระมัดระวัง
ชาวลาหู่มีวิธีรักษาอาการเจ็บป่วย ได้แก่
O รักษาด้วยสมุนไพร ที่มีในท้องถิ่นด้วยวิธีการดื่ม กิน นวด ประคบ จับเส้น และการเป่าคาถากำกับ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น
O ใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีจำหน่ายในร้านค้าของชุมชน เป็นที่นิยมรองจากสมุนไพร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญ และความนิยมในการใช้ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ทิฟฟี่ ควบคู่กับการดื่มน้ำต้มสมุนไพร
O รักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการถามผี เทพเจ้า ตามความเชื่อดั้งเดิม หากการรักษาอาการทั้งสอง ปัจจัย ข้างต้น ไม่เป็นผล
O เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาล หากสามวิธีการเบื้องต้นไม่ได้ผล หรือ กรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่มีอาการเกินเยียวยาด้วยตนเอง หรือ หมอยาในชุมชน แต่ก็ยังอาศัยการดูแลด้วยสมุนไพรประกอบกันในระยะพักฟื้น
นอกจากนี้ ชาวลาหู่ไม่เห็นความสำคัญ หรือความจำเป็นในการรักษา เช่น ผด ผื่นคัน กลากเกลื้อน แผลเปื่อยฯลฯ มักปล่อยให้หายเอง แต่จะให้ความสำคัญในการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เซ่นไหว้ผีเป็นการขอขมา หากคนในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วย จากธรรมชาติ จากสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือ จากอุบัติเหตุ
การฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยของชาวลาหู่ ด้วยการดื่มน้ำต้มสมุนไพร อาบน้ำยาต้มสมุนไพร และการเป่าคาถากำกับ บางครั้งก็มีการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับการดูแลสุขภาพแผนปัจจุบันบ้าง เช่น เกิดอุบัติเหตุต้องเข้าเฝือกโดยแพทย์โรงพยาบาล แต่ก็จะมีการเป่าคาถา นวดประคบด้วยความรู้ดั้งเดิมโดยหมอยาในชุมชนควบคู่กัน ซึ่งชาวลาหู่ จะหาความรู้ในการรักษา ดูแลตนเองก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคนั้น ๆ แต่ไม่สนใจที่จะศึกษาหาความรู้ด้านสุขภาพอนามัยเพิ่มเติมในยามที่ไม่เจ็บป่วย
การส่งเสริมป้องกันในการดูแลสุขภาพ ด้วยสมุนไพรและความเชื่อที่สืบทอดกันมา ไม่ได้เน้นการรักษาและป้องกันสุขภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกาย แต่เชื่อว่าสมุนไพรคือยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรงที่ต้องดื่มเป็นประจำ อีกทั้งการทำไร่ทำสวนถือเป็นการออกกำลังกายอยู่แล้ว นอกจากนี้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการเลือกซื้อและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม มีประโยชน์ สะอาด ปลอดภัยต่อร่างกาย มีน้อยรายที่รู้จักเครื่องหมาย อย. ตลอดจนความสนใจในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขค่อนข้างน้อย การรับสื่อส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบันเทิง กอปรกับชุมชนไม่มีสถานีอนามัย (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล) อาสาสมัครสาธารณสุข ที่มีอยู่ดูแลคนในชุมชนได้ไม่ทั่วถึง อีกทั้งทุกคนมุ่งประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวมากกว่า ดังนั้นจึงใช้ชีวิตอย่างไม่มีการพัฒนาเรียนรู้ เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชนอย่างถูกต้อง และเหมาะสมเท่าที่ควร
การดูแลสุขภาพอนามัยของชาวลาหู่บ้านดอยมด ปัจจุบันเป็นลักษณะการผสมผสานระหว่างความรู้ดั้งเดิมและการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยอยู่ไม่น้อย แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนชาวเขามากขึ้น ความรู้แบบภูมิปัญญาดั้งเดิมอาจเลือนหาย โดยไม่มีผู้สืบทอดอาจต้องพิจารณาถึงบทบาทของผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส หมอยา หรือ ปู่จ๋าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ นับถือและเชื่อฟัง ได้เปิดใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมให้เกิดประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง ซึ่งจะเป็นทิศทางการดูแลสุขภาพอนามัยของตนในชุมชนอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตตามวิถีชนเผ่าเท่าที่ควรจะเป็น