
สิทธิชนเผ่าในประเทศไทย
ชาวเขา หรือ ชนเผ่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์ หมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หนึ่ง ๆ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีวิถีการดำเนินชีวิตอยู่กับธรรมชาติและมีความสัมพันธ์กับชนกลุ่มอื่น
ในประเทศไทยมีกลุ่มชนเผ่ามากมายหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติ ที่เข้ามาอาศัยอยู่จากด้วยเหตุผลของการอพยพโยกย้ายจาการรบพุ่ง สภาพทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนพื้นที่ทำกิน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาในสถานะของผู้อพยพ กลายเป็นคนชายขอบ หรือต่างด้าว หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่ขาดโอกาสในหลาย ๆ ด้าน ในที่สุด
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของชนเผ่าในประเทศไทยก็คือ การที่ชนเผ่าไม่ได้รับสัญชาติไทย การขาดพื้นที่ทำกิน หรือการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เพราะเหตุผลที่เดินทางไปมาระหว่างพรมแดนไทย-พม่า หรือไทย-ลาว อันเป็นการปฏิบัติมาแต่ดั้งเดิมในการประกอบอาชีพและเป็นวิถีชีวิตของชนเผ่า ทำให้เกิดปัญหาว่าบุคคลหรือกลุ่มนั้น ๆ ถือสัญชาติของประเทศใด หรือเป็นบุคคลไม่มีสัญชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อไม่มีรัฐใดยอมรับว่าบุคคลนั้นเป็นคนของรัฐตน บุคคลนั้นจึงกลายเป็นคนไร้รัฐ อย่างไรก็ตามบุคคลเหล่านี้ก็ควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ
สหประชาชาติเกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยมีการประชุมของประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เพื่อก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Organization) มีเป้าหมาย 3 ประการคือ
1. เพื่อสร้างสันติภาพและความมั่นคง
2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
3. สร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนให้ได้รับการเคารพทั่วโลก
ทั้งนี้โดยอาศัยกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญของประเทศ เป็นตราสารสำคัญ มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย การยืนยันถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรีและเสรีภาพส่วนบุคคล ความเท่าเทียมกันของชายหญิงและมนุษย์ทุกคนในทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยให้การรับรองสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน 5 ฉบับ คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดทางเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี พ.ศ.2536 ยืนยันว่าบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือชนเผ่า มีสิทธิที่จะมีวัฒนธรรมของตนเอง นับถือศาสนาและปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาของตนเอง สามารถใช้ภาษาของตนเองทั้งในสถานที่ส่วนตัวและในที่สาธารณะได้อย่างเสรี โดยปราศจากการแทรกแซงหรือการแบ่งแยกในรูปแบบใดๆ ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและภาษา
ประเทศไทยกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชนเผ่าตามหลักสากลโดยรัฐธรรมนูญ
สอดคล้องกับสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ดังนี้
1. การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
มาตรา 4 มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ไม่มีใครเอาไปได้ โอนให้แก่กันไม่ได้มนุษย์ทุกคนจึงมีความเท่าเทียมกันทุกแห่งหนในโลกจึงควรปฏิบัติต่อกันฉันท์พี่น้อง
2. สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง
มาตรา 46 ว่าด้วยสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาตรา 56 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลและชุมชน ในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
3. หลักความเสมอภาคและห้ามเลือกปฏิบัติ
มาตรา 30 รัฐจะประกันสิทธิของทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย
โดยไม่จำแนก ความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิวหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด
4. สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว
มาตรา 84 สิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินต้องสอดคล้องกับวิถีทางวัฒนธรรมของกลุ่มชน โดยรัฐต้องจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ตามกติกา
5. สิทธิในการรับสัญชาติ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 14 และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทาง เชื้อชาติ สิทธิพลเมือง สิทธิเด็ก(เด็กทุกคนต้องได้รับสัญชาติ) ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยยัง ไม่รับรองสิทธิในการได้รับสัญชาติ แต่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ
6. เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่
มาตรา 36 สิทธิยังมีปัญหาในกรณีที่ชนเผ่ามีบัตรสี ถูกอพยพโยกย้ายจากที่ทำกินและที่อยู่ อาศัย ไม่มีสิทธิในการเลือกถิ่นที่อยู่ได้โดยสมัครใจ
7. สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ
มาตรา 52 ว่าด้วยสิทธิการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ผู้ยากไร้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
มาตรา 55 รัฐต้องคุ้มครองคนพิการหรือทุพพลภาพให้ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก
8. สิทธิในการศึกษา
มาตรา 43 ให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิชนเผ่าไว้อย่างกว้างขวาง แต่ในทางปฏิบัติยังคงต้องดำเนิน
การให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีการดำเนินการทางยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการจัดทำแผนแม่บทต่างๆ เพื่อพัฒนากลุ่มชนเหล่านี้ โดยให้ชนเผ่ามีส่วนร่วมบนพื้นฐานของหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญและหลักสากล
มูลนิธิโครงการหลวง เป็นองค์กรหนึ่งของสังคมที่มีส่วนในการช่วยภาครัฐ พัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตชนเผ่า สนับสนุนให้ชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการหลวง ได้รับสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฏบัตรสหประชาชาติตามขอบเขต จัดสรรพื้นที่ที่ได้รับจากกรมป่าให้ชนเผ่าประกอบอาชีพ ด้วยการส่งเสริม ประสานการให้สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มีที่อยู่ที่ทำกิน ส่งเสริมให้ชนเผ่าสามารถค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง กำหนดและรักษาวิถีการดำเนินชีวิตเองตลอดจนการผลักดันให้ชนเผ่าได้เรียนรู้ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ด้วยถือตามบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างพร้อมมูล สามารถนำชนเผ่าไปสู่การดำรงชีวิตได้อย่างเข้มแข็งและปลอดภัย
ที่มา: ศราวุธ ปทุมราช. ข้อกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชนเผ่าในในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:โค-ขยัน มีเดียทีม, 2548