
ย่ำขาง เป็นวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกาย จัดอยู่ในกลุ่มภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพด้านกายบำบัด วิธีรักษานั้น พ่อหมอจะใช้เท้าชุบน้ำยา (น้ำไพลและน้ำมันงา) แล้วย่ำบนขางหรือผาลที่เผาไฟจนร้อนแดงแล้วจึงย่ำบนร่างกายของลูกเลี้ยง (ผู้ป่วย) บริเวณที่มีอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย ในอดีตหมอเมืองจะใช้เท้าย่ำรักษาส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งศีรษะด้วย แต่ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวดในส่วนของศีรษะแทน ส่วนอื่นๆ ของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม หมอเมืองที่รักษาลูกเลี้ยงด้วยวิธีการย่ำขางเรียกว่า หมอย่ำขาง
คำว่า ขาง หมายถึง เหล็กหล่อชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบผาลไถที่ใช้สำหรับไถนา ขนาดประมาณ 8 x 6 นิ้ว ปลายแหลม ภาษาถิ่นล้านนาเรียกว่า ใบขาง เนื่องจากใบขางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนาที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่า ขาง มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์เพราะสามารถไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลกได้ อีกทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวขางมีแร่ธาตุบางชนิดที่เชื่อว่าเป็นตัวยาสามารถใช้รักษาโรคได้ ในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า หากเด็กมีอาการเจ็บปากหรือลิ้นจะนำขางที่เผาร้อนไปแช่น้ำให้เด็กดื่ม ทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นหายได้ หมอเมืองบางคนเชื่อว่า ความร้อนจากใบขางจะทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายลูกเลี้ยงได้ลึกกว่าการใช้โลหะอย่างอื่น ในอดีตการใช้ขางรักษาโรคมีหลายวิธี ย่ำขาง คือ การเอาเท้าชุบน้ำยา (น้ำไพลและน้ำมันงา) แล้วไปย่ำหรือวางบนขางที่เผาจนร้อนแดงแล้วไปย่ำบริเวณร่างกายผู้ป่วยตรงที่มีอาการเจ็บปวด การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีอยู่ในปัจจุบัน
ข้อห้ามสำหรับการย่ำขาง ห้ามใช้รักษาผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดมาใหม่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง (เพราะความร้อนจะทำให้มะเร็งกระจายตัวเร็วขึ้น) โรคปอด โรคหืด และผู้ป่วยที่มีไข้ขึ้นสูง
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยวิธีย่ำขางจะต้องยึดถือข้อห้ามตามที่หมอย่ำขางบอกกล่าว เพื่อให้อาการเจ็บป่วยหายเร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่หมอย่ำขางเชื่อว่าเป็นของแสลง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดและจะกลับมาเป็นซ้ำอีก ได้แก่ หน่อไม้ ผักชะอม บอน ทุเรียน ไข่ เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อควาย ปลาไหล ของหมักดอง อาหารทะเล หอย ปลาไม่มีเกล็ด และกบ